Thursday, October 8, 2015

การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส

การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง
       การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส เป็นการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน (suffrage universel direct) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน  โดยการเลือกตั้งประธานาธิบดีนี้ใช้ระบบเสียงข้างมากแบบเด็ดขาด (คือได้คะแนนเสียงข้างมากเกินกว่า 50%)  แบ่งเป็นสองรอบ หากการเลือกตั้งรอบแรกไม่มีผู้ใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ก็นำผู้สมัครที่ได้ลำดับ 1 และ 2 มาเลือกตั้งในรอบที่สอง  รูปแบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีนี้ เป็นลักษณะเฉพาะของสาธารณรัฐที่ 5 ของฝรั่งเศส  อย่างไรก็ดี วิธีการเลือกตั้งประธานาธิบดีดังกล่าวมิได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันตั้งแต่ปีที่บังคับใช้ คือปี ค.ศ. 1958 (ซึ่งเดิมใช้ระบบการเลือกตั้งทางอ้อม) หากแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงนี้ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1962 โดยผ่านกระบวนการออกเสียงประชามติของประชาชนในการเห็นชอบให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรง  
       
  คุณสมบัติและเงื่อนไขของการสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี
         ผู้ที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีได้ ต้องมีสัญชาติฝรั่งเศส ต้องมีอายุมากกว่า 18 ปี ขึ้นไป (การกำหนดอายุ 18 ปี ขึ้นไปนี้ เพิ่งได้รับการแก้ไขจากเดิมต้องมีอายุ 23 ปีขึ้นไป ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 14 เมษายน 2011 ที่ผ่านมา)  และเงื่อนไขที่สำคัญเพื่อป้องกันมิให้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งมากจนเกินไป หรือใช้โอกาสการเลือกตั้งนี้เพื่อโปโมทตัวเองให้เป็นที่รู้จัก กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องได้รับการลงชื่อสนุบสนุนอย่างเป็นทางการจากนักการเมืองของฝรั่งเศส (ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน élu) ทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่น และระดับสหภาพยุโรป ไม่น้อยกว่า 500 คนขึ้นไป จาก 30 จังหวัดเป็นอย่างน้อย เพื่อให้เป็นผู้สมัครที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง มิใช่เพียงแต่ภาคใดภาคหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการลงชื่อเป็นผู้สนับสนุนหรือเสนอชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งนี้ เป็นการลงชื่อจากนักการเมืองโดยอิสระ และไม่มีผลผูกผันใดๆกับผู้ลงชื่อสนับสนุนแต่อย่างใด  ผู้เขียนเคยได้ทราบมาว่า มีนายกเทศมนตรี หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหลายต่อหลายคนที่ลงชื่อสมับสนุนผู้สมับรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีฝ่ายตรงข้าม ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้เสียงข้างน้อย หรือบุคคลที่มาจากหลายๆได้มีโอกาสเข้ามาสมัครเลือกตั้งได้บ้าง เพื่อให้เกิดความหลากหลายและเคารพเสียงข้างน้อยตามระบอบประชาธิปไตย
    การส่งรายชื่อผู้สับสนุนจะต้องส่งให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์และคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและผู้สนับสนุนในรัฐกิจจานุเบกษา ซึ่งได้มีการประกาศเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา  จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดให้วันหาเสียงเลือกตั้งวันสุดท้ายคือวันเสาร์ที่ 21 เมษายน เพื่อจะให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในรอบแรกวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา ผลปรากฎว่า ไม่มีผู้ใดได้คะแนนเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง ดังนั้น จำเป็นต้องจัดให้มีการเลือกตั้งในรอบสองขึ้น ระหว่างผู้ที่คะแนนอันดับที่ 1 และ 2  ซึ่งก็คือ นาย François Hollande ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่งคือ 28,6 % และอันดับสอง เป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือนาย Nicolas Sarkozy ได้คะแนน 27,3 % คงต้องติดตามกันต่อไปสำหรับการเลือกตั้งในรอบที่สอง ที่จะจัดให้มีขึ้นวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคมนี้    

No comments:

Post a Comment